กรมเจ้าท่า เปิดตัวตัว “เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย”

พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวสีเขียว เตรียมพัฒนาเรือพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 5 สิงหาคม 2563 กรมเจ้าท่าถือโอกาสวันพิเศษ วันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า ครบรอบ 161 ปี เปิดตัวเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลในกลุ่มผลิตภัณฑ์เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า ‘บ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่’ (BanpuNext e-Ferry)  ซึ่งกรมเจ้าท่าจดทะเบียนเป็นเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของประเทศไทย ชูนวัตกรรมเรือพลังงานสะอาดมาตรฐานสากล โดยผ่านมาตรฐานการรองรับตามข้อบังคับของกรมเจ้าท่า ทั้งด้านวัสดุอุปกรณ์ประจำเรือ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ล้ำสมัยด้วยเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ศักยภาพสูง ตัวเรือมีขนาดความยาว 20 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ ด้วยความเร็วสูงสุดกว่า 17 นอต โดยออกแบบวางจุดแบตเตอรี่ให้อยู่กลางลำเรือ เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ต่างๆ สามมารถรองรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุด 90 คน คาดการณ์ว่าหากนำเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำนี้ไปให้บริการนักท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนดเป็นระยะเวลา 1 ปี จะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ถึง 26,250 ลิตร โดยจะนำร่องในเส้นทางท่องเที่ยวภูเก็ต – อ่าวพังงาเป็นที่แรก

ตั้งเป้าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยวของคนยุคใหม่ที่ สะอาด ปลอดภัย รักษ์โลก และสนับสนุนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งทางน้ำ และการพาณิชย์นาวีของไทย

กองทัพเรือจัดงานรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ปีที่ 127

วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีสดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ณ บริเวณลานหน้า พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับ เหตุการณ์ ร.ศ.112 ตรงกับปีพุทธศักราช 2436 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงนั้นชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือการแสวงหาอาณานิคม ประเทศต่าง ๆ เช่น ญวน เขมร ลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สำหรับประเทศไทย ได้ถูกชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสเข้ามารุกราน

โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือเรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังกรุงเทพฯ และได้เกิดการปะทะกับฝ่ายไทย ทั้งหมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน 9 ลำ ผลปรากฏว่า เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โดยมีทหารประจำเรือเสียชีวิตรวม 3 นาย และเรือนำร่องถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง ส่วนฝ่ายไทยเรือที่ได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายตรงข้าม จำนวน 4 ลำ

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวไทยกับฝรั่งเศสก็ได้ยุติการสู้รบกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเป็นเหตุให้ไทยเราต้องเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงไว้ซึ่งเอกราช ประกอบด้วยดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ตะวันออก ตลอดจนบรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง คิดเป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังความโทมนัสและเสียพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณา เห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทน ชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดีจึงจะใช้การได้ จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการทั้งในด้านการปกครอง การทหารบก การทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป รวมทั้งได้ทำการฝึกนายทหารเรือไทย เพื่อปฏิบัติงานแทนชาวต่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้กิจการทหารเรือมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนปัจจุบัน