เปลี่ยนโฉมเรือขนสินค้ารุ่นดึกเป็นเรือ “ซูเปอร์ยอช์ท” 62 ล้านดอลล์

     โลกกำลังจะได้รู้จักกับเรือยอช์ทสุดหรูตระการตาที่สร้างจากอดีตเรือขนส่งสินค้ายักษ์ขนาด 270 ฟุต ผลงานการดีไซน์ใหม่หรูหราทำให้เรือ Kilkea สามารถเป็นพาหนะที่เดินทางรอบโลกได้พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกนานหลายสัปดาห์ ขณะนี้เรือกำลังสร้างอยู่ที่อู่ต่อเรือในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทนอร์เวย์เป็นเจ้าของ

     สุดยอดเรือยอช์ทลำใหม่ของโลกมูลค่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ  2.1 พันล้านบาทนี้ถูกตั้งชื่อว่าคิลเคีย (Kilkea) เป็นเรือสำราญที่สร้างจากการนำเรือขนส่งสินค้าเก่าแก่ซึ่งมีรูปแบบเรือเรียกว่า Vard 1/08 มาปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ ด้วยความที่เรือลำนี้เคยถูกใช้ขนส่งสินค้าสู่แท่นเจาะน้ำมัน ทำให้เรือมีโครงสร้างห้องเก็บสินค้าขนาดใหญ่ และสามารถแล่นได้นานต่อเนื่องมากกว่า 30 วัน

     เรือลำนี้มีห้องมากพอสำหรับผู้โดยสาร 36 คน ด้านหลังของเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ โครงเหล็กตัวเรือมีความยาวมากกว่า 268 ฟุต สามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุด 15.4 น็อต (knot)

     ผู้รับหน้าที่ออกแบบปรับโฉมเรือหรูนี้คือบริษัท Bannenberg & Rowell Design ซึ่งใช้วิธีเพิ่มจำนวนชั้น ทำให้สามารถใส่สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสระว่ายน้ำ รวมถึงสนามฟุตบอลได้อย่างยืดหยุ่น

     เช่นเดียวกับเรือยอช์ทรุ่นใหม่ เรือ Kilkea จะมีเทคโนโลยีนำทางทั้งระบบระบุพิกัดแบบไดนามิกซึ่งทำให้เรือยอชต์สามารถกำหนดเป้าหมายผ่านจีพีเอส (GPS) และแบบควบคุมได้เองซึ่งสามารถทำผ่านจอยสติก (joystick) เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมเรือ ทั้งหมดนี้เรือ Kilkea จะถูกสร้างโดยบริษัท Shackleton Superyachts & International Shipbuilders เริ่มดำเนินการสร้างแล้วเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

ราคาเรือยอช์ทไม่ธรรมดาลำนี้คือ 62 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2,110 ล้านบาท เหมาะสำหรับคนที่ชอบการเดินทางแบบไม่ธรรมดา

มอบนโยบายในการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port In – Port Out : PIPO)

มอบนโยบายในการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port In – Port Out : PIPO)

     พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มอบนโยบายในการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (Port In – Port Out : PIPO) ให้แก่ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทั้ง 3 เขต รวมถึงหัวหน้าศูนย์ PIPO ในทุกพื้นที่ ณ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

     สำหรับนโยบายที่มอบให้แก่ศูนย์ PIPO ในครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ศูนย์ PIPO ที่ประกอบด้วยหน่วยงาน กรมประมง เจ้าท่า และแรงงาน มาทำงานร่วมกันอย่างบูรณการมากขึ้น รวมทั้งได้มีการปรับจำนวนศูนย์ให้เหมาะสมกับจำนวนเรือเข้า – ออกเพิ่มความรวดเร็วในการบริการจัดเจ้าหน้าที่ล่ามเพิ่มขึ้นและสัมภาษณ์แรงงานให้ไม่ถูกบังคับในการใช้แรงงาน ทั้งนี้การดำเนินการของ ศปมผ.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อยกระดับให้การพัฒนากิจการประมงของไทยเกิดความยั่งยืน อันเป็นการสร้างกลไกในการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานทางทะเล รวมถึงการกำกับดูแลด้านแรงงานในภาคประมงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และหลักสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับของสากล ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ทช. จับมือผู้ว่าประจวบฯ ดูแลระบบนิเวศทางทะเล กรณีปลาฉลามที่เขาเต่า

ปลาฉลามที่เขาเต่า

ทช. จับมือผู้ว่าประจวบฯ ดูแลระบบนิเวศทางทะเล กรณีปลาฉลามที่เขาเต่า

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบและประชุมกำหนดมาตรการและเกิดเหตุ ร่วมกับผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายกเทศมนตรีหัวหิน หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจในพื้นที่ กรณีฉลามกัดนักท่องเที่ยวที่หาดเขาเต่า ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองหัวหิน ที่ประชุมมีมติให้ร่วมกันปฎิบัติ คือ

  1. ให้เทศบาลเมืองหัวหิน อ.หัวหิน ติดตั้งป้ายประกาศ ๓ ภาษา (ไทย อังกฤษและจีน) เตือนนักท่องเที่ยว และขอความร่วมมือโรงแรมและผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ถึงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งที่ปลาฉลามหัวบาตรเข้ามาหากินโดยทั่วกัน
  2. กรม ทช. เสนอรูปแบบการติดตั้งตาข่าย พร้อมทุ่นแนวเขตการเล่นน้ำ โดยให้เทศบาลเมืองหัวหิน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการและค่าใช้จ่าย และให้จัดทำโครงการมาตรการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพื่อไม่รบกวนระบบนิเวศทางทะเลของสัตว์ทะเล
  3. ให้อำเภอและเทศบาล ติดประกาศห้ามลงเล่นน้ำทะเลบริเวณหาดทรายน้อย บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะติดตั้งตาข่าย พร้อมทุ่นแนวเขตเล่นน้ำทะเลจะแล้วเสร็จ
  4. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรกู้ภัยทางทะเลฯ ให้จัดตั้งชุดปฎิบัติการเฝ้าระวังการเผชิญเหตุอุบัติภัยทางทะเลและอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว จนกว่าจะติดตั้งตาข่ายพร้อมทุ่นแนวเขตแล้วเสร็จ โดย กรม ทช. จะจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือมาสนับสนุน
  5. กรม ทช. จะได้จัดส่งทีมนักวิชาการ มาศึกษาจำนวน ชนิด ขนาด และพฤติกรรมในการดำรงชีพของฝูงปลาฉลามหัวบาตรกลุ่มนี้ เพื่อจะได้นำผลการศึกษาไปจัดทำแผนงาน ในการดูแลรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับระบบนิเวศของสัตว์ทะเลในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
  6. ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรมธุรกิจการท่องเที่ยว และร้านค้าร้านอาหาร ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ ให้ทราบถึงข้อควรระวัง และการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 – ต.269 จำนวน 5 ลำ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 – ต.269 จำนวน 5 ลำ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 (LST Ramp) ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี อนุชา เอี่ยมสุโร ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ กำลังพลประจำเรือ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับกองทัพเรือได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2551 – 2560 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการชายฝั่ง เพื่อใช้ในภารกิจต่างๆ โดยดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง กองทัพเรือ จำนวน 20 ลำ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเดิม ที่ใช้ราชการมาเป็นเวลานาน

     คุณลักษณะของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 – ต.269 มีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) โดยสามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเล ไม่น้อยกว่า Sea State 2 สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือและบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)

     คุณลักษณะทั่วไป (Ship System Performance) ระวางขับน้ำเต็มที่โดยประมาณ 45 ตัน ขนาดของเรือ ความยาวตลอดลำ 21.40 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 5.56 เมตร ความลึกของเรือ (Molded Depth) 3.15 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ (Molded Draught) 1.05 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า 30 นอต กำลังพลประจำเรือ 9 นาย สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

     อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณหัวเรือ อาวุธปืนรอง ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณท้ายเรือ

นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงความยินดีกับนักกีฬาเรือใบไทยที่คว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเรือใบประเภท Optimist รายการ Trofeo Marco Rizzottl Optimist Team Racing 2018

     เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แสดงความยินดีกับทีมนักกีฬาเรือใบไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบรายการ Trofeo Marco Rizzottl Optimist Team Racing 2018 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 – 10 มิถุนายน 2561 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

     สำหรับการแข่งขันเรือใบนานาชาติ รายการ Trofeo Marco Rizzottl Optimist Team Racing 2018 เป็นการแข่งขันเรือใบ Optimist ประเภททีม มีนักกีฬาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 19 ทีม จาก 15 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศทางยุโรป และในเอเชียมีประเทศไทยเพียงชาติเดียวที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยทีมชาติไทยประกอบด้วย เด็กชายพันวา บุนนาค, เด็กชายเจตวีร์ ยงยืนนาน, เด็กหญิงชาลิสา กฤตนัย, หม่อมหลวงเวฆา ภาณุพันธ์ และ เด็กชายบวรนันท์ ชันรัมย์ มีผู้ฝึกสอนคือ เรือเอก สมเกียรติ พูนพัฒน์ และผู้ควบคุมทีมคือ นาวาโท ทวียศ รัตนศีล โดยรูปแบบการแข่งขันจัดให้ทุกทีมได้พบกัน ซึ่งผลการแข่งขันปรากฎว่า ทีมนักกีฬาเรือใบเยาวชนไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศมีผลการแข่งชนะมากกว่าทุกประเทศ และชนะทุกทีมที่พบกัน

     ซึ่งการคว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ ทำให้นักกีฬาเรือใบ Optimist ของไทย ได้รับประสบการณ์ และได้พัฒนาศักยภาพจากการแข่งขันกับนักกีฬาต่างประเทศ โดยเฉพาะนักกีฬาทางยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นแชมป์ Optimist และเป็นแชมป์รายการนี้ครั้งที่แล้ว ทางสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ เตรียมส่งนักกีฬาเรือใบ Optimist เข้าร่วมการแข่งขัน Asian Sailing Championships 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และรายการแข่งขันระดับโลก 2018 Optimist World Championship ที่ประเทศไซปรัสต่อไป

พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอเนกประสงค์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ (แห่งใหม่)

     พลเรือเอก นวพล ดำรงพงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอเนกประสงค์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ (แห่งใหม่) ณ บริเวณพื้นที่โรงจอดรถกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

     พิพิธภัณฑ์ของกองทัพเรือได้เริ่มมีขึ้น เมื่อ พ.ศ.2485 ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพียงขั้นตอนรวบรวมวัตถุพิพิธภัณฑ์ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากที่ต่างๆ ในกองทัพเรือ นำมาสงวนรักษาไว้ ที่อาคารราชนาวิกสภาชั้นล่าง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ต่อมาในปี พ.ศ.2501 ได้ย้ายพิพิธภัณฑ์ทหารเรือไปอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จนกระทั่ง พ.ศ.2515 ได้ย้ายพิพิธภัณฑ์ทหารเรือไปอยู่ที่ ตำบลปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากการจัดแสดงนิทรรศการมีสภาพเก่าและอยู่ไกลจากกองบัญชาการกองทัพเรือ ประกอบกับมีโครงการย้ายกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ ไปยังพื้นที่บางนา โดยพื้นที่กองเรือลำน้ำเดิมมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กองทัพเรือจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ และได้ทำโครงการย้ายพิพิธภัณฑ์ทหารเรือมายังพื้นที่พระนิเวศน์ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง อาคารอเนกประสงค์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือแห่งใหม่นี้ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สามารถจัดแสดงนิทรรศการ จัดการประชุม และจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ทำให้พิพิธภัณฑ์ทหารเรือแห่งใหม่นี้มีความสมบูรณ์เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกกำลังพลของกองทัพเรือ ที่ได้ดูตัวอย่างการเสียสละของอดีตบรรพบุรุษทหารเรือในอดีต จึงนับเป็นความมีวิสัยทัศน์ที่ดียิ่งของกองทัพเรือที่ได้ย้ายพิพิธภัณฑ์มาไว้ที่นี่รวมทั้งมีการพัฒนาในด้านต่างๆให้มีความทันสมัย และมีคุณค่าน่าสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เปิดตัว “เรือไฟฟ้าโดยสาร” ลำแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

     เรือลำนี้จะใช้ในการรับส่งผู้โดยสารในคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังท่าเรือวัดเทวราชกุญชร ที่ทางกรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป คุณลักษณะของเรือ ใช้เครื่องยนต์ระบบไฟฟ้า 2 x Torqeedo Cruise 10.0 RXL 10,000 W 48V จากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งในยุโรป ซึ่งใช้ในเรือโดยสารและท่องเที่ยวทั่วโลก ด้านความปลอดภัย แบตเตอรี่เรือ ใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสูง สามารถกันน้ำได้ เมื่อแรงดังน้ำสูงขึ้นแบตเตอรี่จะทำการตัดระบบ และหากเกิดไฟฟ้ารั่วกระแสไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เนื่องจากมีกำลังไฟออกมาแค่ 48V

การแข่งขันเรือใบ ‘เคปพันวา โฮเทล ภูเก็ต เรซวีค 2018

     โรงแรมเคปพันวา ภูเก็ต ในเครือเคป & แคนทารี โฮเทลส์ และบริษัท มีเดีย บิซิเนส เซอร์วิส จำกัด เจ้าของสิทธิ์ในการจัดการแข่งขัน ร่วมจัดงาน เคปพันวา โฮเทล ภูเก็ต เรซวีค 2018 การแข่งขันเรือใบระดับภูมิภาคชั้นแนวหน้า ซึ่งปีนี้เป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 15 โดยจะจัดงานที่โรงแรมเคปพันวา ภูเก็ต และ โรงแรมแคนทารี เบย์ ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 18- 22 ก.ค. 2561 การแข่งขันทุกๆ ปีที่ผ่านมา รายการนี้ถือเป็นการแข่งขันที่มีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก มีเรือทั้งประเภทลำเรือเดียว (Monohulls) และประเภทหลายลำเรือ (Multihulls) เข้าร่วมจำนวนมาก

การแข่งขันเรือใบนานาชาติ “Top of The Gulf Regatta” เตรียมจัดยิ่งใหญ่ปีที่ 15 


     เตรียมพบกับสุดยอดการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย Top of the Gulf Regatta 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 15 พร้อมต้อนรับนักแล่นใบจากทั่วโลก Top of the Gulf Regatta เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในฐานะเป็นการแข่งขันเรือใบที่มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันอย่างหลากหลายประเภท แต่ละปีจะมีเรือเข้าร่วมชิงชัยเป็นจำนวนมาก โดยการแข่งขันครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ โอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ท คลับ พัทยา จ.ชลบุรี

เปิดบริการ เส้นทางเดินเรือใหม่ “บางหว้า-ท่าช้าง” ฟรี 6 เดือน

     เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กทม. และกรมเจ้าท่า เปิดทดลองเส้นทางเดินเรือใหม่ จอดรับส่ง 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือบางหว้า ท่าเรือวัดอินทาราม ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี และท่าเรือท่าช้าง บริการฟรี 6 เดือน

กรุงเทพมหานคร และกรมเจ้าท่า เปิดทดลองเดินเรือเส้นทางใหม่ ตั้งแต่ท่าเรือบางหว้า (คลองภาษีเจริญ) ถึงท่าเรือท่าช้าง (แม่น้ำเจ้าพระยา) โดยไม่เก็บค่าโดยสาร เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่ง “ล้อ ราง เรือ” และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชนในจุดที่ไม่มีเอกชนให้บริการ โดยให้บริการรวม 4 เส้นทาง คือ ท่าเรือบางหว้า-ท่าช้าง ท่าเรือหัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง – ห้างสรรพสินค้า Paseo และ ท่าเรือบางหว้า – วัดกำแพง

สำหรับเส้นทางใหม่ที่เปิดให้บริการวันนี้ เริ่มต้นจากท่าเรือบางหว้า บริเวณจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า ไปตามคลองภาษีเจริญ แยกขวาเข้าคลองบางกอกใหญ่ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจอดรับส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือ 5 แห่ง คือ ท่าเรือบางหว้า ท่าเรือวัดอินทาราม ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี และท่าเรือท่าช้าง

ส่วนเวลาการเดินเรือมี 3 ช่วง คือ

  • เวลา 06.00-09.00 น. ออกต้นทางทุก 30 นาที
  • เวลา 09.00-15.00 น. ออกต้นทางทุก 1 ชั่วโมง
  • เวลา 15.00-19.00 น. ออกต้นทางทุก 60 นาที