เรือหลวงสุโขทัย อับปางกลางทะเล

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุคลื่นลมแรงอับปางกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์  ขณะเดินทางเพื่อร่วมพิธี 100 ปี การสิ้นพระชนม์ของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัยนั้น ตัวเรือมีอาการเอียงจากคลื่นลมแรง หลังเกิดคลื่นลมแรงและพัดน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก จนทำให้เครื่องไฟฟ้าดับและส่งผลให้เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ และทำให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเอียงมากขึ้นในเวลาต่อมา ก่อนจะอับปางกลางอ่าวไทย

สำหรับ ร.ล.สุโขทัย เป็นเรือคอร์เวต สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อเดิมคือ RTN 252 FT PSMM MK-16#446 เป็น 1 ใน 2 ลำของชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย ร.ล.รัตนโกสินทร์ หมายเลขเรือ 441 และ ร.ล.สุโขทัย หมายเลขเรือ 442 ทั้ง 2 ลำ เป็นเรือที่ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัยมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูง พร้อมปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติในเวลาเดียวกัน คือ ป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

ภารกิจหลักของ ร.ล.สุโขทัย คือ การปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง รวมถึงสนับสนุนภารกิจอื่นๆ ของกองทัพเรือ มีขนาดกว้าง 9.6 เมตร ยาว 76.7 เมตร สูง 26.82 เมตร น้ำลึกหัว 3.81 เมตร ท้าย 3.07 เมตร โดมโซนาร์ 4.5 เมตร ภายในเรือ ติดตั้ง ปืน 76/62 มม. 1 กระบอก ปืน 40L70 มม. แท่นคู่ 1 กระบอก ปืน 20 มม. 2 กระบอก นอกจากนั้นยังติดตั้ง ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น MK32 MOD5 (6 ท่อยิง) เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำขณะเดียวกันยังติดตั้ง ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C 2 แท่น (8 ท่อยิง) ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ALBATROS 1 แท่น (8 ท่อยิง ASPIDE 2000) ระบบตรวจการณ์ยังประกอบด้วย เรดาร์พื้นน้ำ SPERRY VISION MASTER FT เรดาร์พื้นน้ำ FURUNO เรดาร์พื้นน้ำ SCOUT เรดาร์อากาศ DA05 ฯลฯ

สำหรับ “เรือหลวงสุโขทัย” หรือ ร.ล.สุโขทัย เข้าประจำการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 และอับปางจมสู่ท้องทะเล เมื่อวันที่ 18  ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาประจำการ 35 ปี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 50 ปี

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 50 ปี โดยนายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ คณะกรรมการ กนอ. พร้อมด้วย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผวก.กนอ. ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน กนอ. ให้การต้อนรับ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสเป็นประธานงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา กนอ. ครบรอบ 50 ปี พร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษในงาน โดยมี ผู้เข้าร่วมงานทั้งจาก บริษัทร่วมทุน บริษัทผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม อดีตผู้บริหาร กนอ. พันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน กนอ. “50th Anniversary of IEAT: Industrial Collaboration for Sustainable Development”

ภายในงานมีการแสดงวิดิทัศน์รวบรวมความประทับใจ 50 ปี กนอ. วีดิทัศน์อดีตผู้ว่าการ กนอ. บอกเล่าผลงานและความประทับใจที่มีต่อ กนอ. การแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินงานของ กนอ. โดย ผวก.กนอ. และมินิคอนเสิร์ตจาก เพียว เดอะวอยซ์ แชมป์ เดอะวอยซ์ คนล่าสุด  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) Ballroom 1-2  ถ.ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

การประชุมเอเปค 2022

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก จัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–19 พฤศจิกายน 2565 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ

แนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ประเทศไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี เป็นหัวข้อหลักในการประชุมและจัดทำข้อเสนอไปยังผู้นำเขตเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เริ่มด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ในวันที่ 14–16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยมีหัวข้อสำคัญคือการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก หรือ FTAAP และแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ช่วงค่ำวันเดียวกัน รัฐบาลไทยได้จัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรส ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในงานเลี้ยงรับรอง ได้มีการจัดอาหารค่ำในแนวคิด “ภูมิปัญญาอาหารไทยอย่างยั่งยืน” โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงจากทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในวันกองทัพเรือประจำปี 2565

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาเป็นประธานในงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในวันกองทัพเรือประจำปี 2565 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือให้การต้อนรับ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ประกอบด้วย   ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย

สำหรับความเป็นมาของ วันกองทัพเรือ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี กับได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า “วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายน่า” กองทัพเรือ จึงได้ถือเอา วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการก่อตั้งสถาบันหลักของกองทัพเรือ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนากิจการทหารเรือ ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กรมทะเล ร่วมงานฝึกปฏิบัติการ ศรชล. ปกป้องทะเลไทย

วันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักงาน ทช.ที่2 (ชลบุรี) และกลุ่มประสานงาน ศรชล. เข้าร่วมชมการฝึกการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล และการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)/สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ณ บริเวณพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด จ.ชลบุรี โดยใช้กำลังหลักของ ศรชล.ภาค 1 ดำเนินการฝึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 โดยมี พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. เป็นประธานตรวจเยี่ยมการฝึก พร้อมทั้งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของหน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ โดยมีเรือประกอบด้วย เรือจากกองทัพเรือ (ร.ล.จักรีนฤเบศร,ร.ล.สิมิลัน, ร.ล.ตากใบ) กรมศุลกากร (เรือ ศก.609) กองบังคับการตำรวจน้ำ (เรือ 631)/เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือถึง 3 ลำ (S-70B Sea Hawk,Super Lynx 300 ,S-76B/เนวีซีล หรือ ชุดปฏิบัติการพิเศษ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พร้อมนำ เรือปฏิบัติการพิเศษแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี หรือ Special Operations Craft Rigid Hull Inflatable Boat (SOC RHIB) 2 ลำ / พร้อมด้วยชุดแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ/ ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ หรือ EOD จากกรมสรรพาวุธทหารเรือ แลชุดตรวจอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง หรือ Weapons of Mass Destruction หรือ WMD จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และปรมาณูเพื่อสันติ โดย ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือสำหรับคณะผู้บังคับบัญชาชมการฝึกฯ / เรือหลวงสิมิลัน เป็นเรือสินค้าสมมุติที่ถูกยึดและลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จึงนับเป็นโอกาสดีที่ท่านจะได้เห็นภาพหนึ่งในการปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย ที่ไม่สามารถหารับชมได้โดยง่าย และเพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในบทบาทของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่สำคัญของประเทศ

กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ทำบุญ เรือ ต.98 และ เรือ ต.99 ก่อนเรือปลดประจำการ

ตามที่ กองทัพเรือได้เสนอขออนุมัติปลดระวาง เรือ ต.98 เรือ ต.99 ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ได้จัดพิธีทำบุญก่อนเรือจะปลดประจำการขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่เรือทั้ง 2 ลำ โดย เรือ ต.98 และ เรือ ต.99 เป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเรือทั้ง 2 ลำ สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือเพื่อใช้ปฏิบัติงานภายในน่านน้ำไทย

สำหรับเรือ ต.98 เป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 7 มีนาคม 2528 ภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติราชการเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ รวมระยะเวลาประจำการทั้งสิ้น 37 ปี ระหว่างการประจำการของเรือ ต.98 ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เช่น การรักษาอธิปไตยของชาติจากเหตุการณ์การปะทะกับเรือต่างชาติบริเวณพื้นที่ชายแดนของทัพเรือภาคที่ 3

สำหรับ เรือ ต.99 เป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ขึ้นระวางประจำการ เมื่อ 9 มกราคม 2531 รวมระยะ เวลาประจำการถึงปัจจุบัน 34 ปี ระหว่างการประจำการของ เรือ ต.99 ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เช่น การลาดตระเวนรักษาอธิปไตยของชาติ พื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกและพื้นที่ชายแดนฝั่งอันดามัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล